การพัฒนาซอฟต์แวร์ เขียนโปรแกรม จัดทำข้อมูล และวิจัย

การใช้ซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรมการศึกษา

130709_06

การศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถผลิตบุคลากรได้ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างไม่เพียงพอ อาจสืบเนื่องมาจากอาจารย์ผู้สอนนั้นยังขาดประสบการณ์ในการทำงานด้านซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรมไอทีนั้นค่อนข้างหลากหลาย อาจารย์ผู้สอนไม่สามารถให้นักศึกษามีความเชี่ยวชาญในทุกๆซอฟต์แวร์ได้ เนื่องจากเวลาที่จำกัดในกาศึกษา และจำนวนบุคลากรผู้สอน ซึ่งตัวซอฟต์แวร์ที่นักศึกษาได้เรียนรู้และมีความเชี่ยวชาญนั้น อาจไม่ตรงกับความต้องการของบริษัท อีกทั้งงานด้านซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่นั้นมีการกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดกรุงเทพฯและเขตปริมณฑลเป็นส่วนมาก ซึ่งบุคลากรด้านซอฟต์แวร์บางกลุ่มไม่สามารถย้ายถิ่นฐานได้

ปัจจุบันพบว่าทุกระดับการศึกษามีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์อยู่ 3 ด้าน คือ งบประมาณ การพัฒนาเนื้อหา และบุคลากร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ จะส่งผลต่อการพัฒนาระบบการศึกษาไทยในอนาคต ซึ่งภาครัฐควรเพิ่มงบประมาณที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนการศึกษาไทย โดยใช้กลยุทธ์ที่คำนึงถึงทรัพยากรภายในประเทศ เพื่อลดงบประมาณการซื้อซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสร้าง แพลตฟอร์มข้อมูล และประยุกต์ใช้ผ่านรูปแบบแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อขยายการเข้าถึงของผู้ใช้งานได้มากขึ้นภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

การศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาในภาพกว้างในเชิงมูลค่าหรือขนาดของตลาด ไม่มีการศึกษาเชิงลึกที่จะให้ข้อมูลเพียงพอต่อการวางกลยุทธ์หรือทำให้เข้าใจอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ส่งผลให้ความเข้าใจในตัวอุตสาหกรรมมีอย่างจำกัด ความขาดแคลนข้อมูลยังทำให้ประเทศขาดโอกาสด้านการลงทุนจากต่างชาติอีกด้วย ด้วยตระหนักถึงความจำเป็นดังกล่าวจึงได้จัดให้มีโครงการศึกษาศักยภาพของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ขึ้น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่สำคัญอันที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยิ่งขึ้น

ซอฟต์แวร์ด้านการบริหารจัดการที่มีการใช้งานน้อยแต่มีความต้องการสูงสำหรับสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ระบบบัญชีและการเงิน ระบบวิชาการและหลักสูตร ระบบจัดซื้อจัดจ้าง ระบบจัดการเอกสาร ระบบบริหารงานบุคคล ระบบเงินเดือน ระบบตารางสอน และระบบงานปกครอง ระบบบริหารจัดการและบริการเซิร์ฟเวอร์ ระบบบริหารจัดการ e-learning โปรแกรมพัฒนาคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และโปรแกรมสื่อการสอน ส่วนในระดับอาชีวะศึกษาซอฟต์แวร์ที่มีการใช้งานน้อยแต่มีความต้องการสูง ได้แก่ ระบบจัดซื้อจัดจ้าง และโปรแกรมการพัฒนาคอมพิวเตอร์ช่วยสอน สำหรับสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาไม่มีซอฟต์แวร์ที่มีการใช้งานน้อยแต่มีความต้องการสูงปรากฏ ดังนั้นซอฟต์แวร์กลุ่มนี้ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยต่างๆ ที่ไม่มีการใช้งานว่าเกิดจากสาเหตุใดในการสำรวจครั้งต่อไป