ภาษาคอมพิวเตอร์ หมายถึง โปรแกรมหรือชุดคำสั่งที่มนุษย์เขียนขึ้นเพื่อสั่งงานให้คอมพิวเตอร์ทำงานตามความต้องการ ภาษาที่ใช้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีมากมาย แต่ละภาษาจะมีลักษณะโครงสร้างและกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปจะแบ่งภาษาคอมพิวเตอร์ได้ 3 ระดับคือ
1. ภาษาเครื่อง (Machine Language) ภาษาเครื่องเป็นภาษารหัสตัวเลข ที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถรับรู้และปฏิบัติตามได้ทันที ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ยุคแรก ๆ ต้องเขียนโปรแกรมด้วยภาษาเครื่อง ซึ่งเป็นภาษาที่คนทำความเข้าใจยาก นอกจากนั้นเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องยังใช้รหัสเลขที่ต่างกันด้วย ดังนั้นการใช้คอมพิวเตอร์ โดยใช้ภาษาเครื่องจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และมักจะเกิดความผิดพลาดเสมอ แต่ก็เป็นภาษาที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจและทำงานได้อย่างง่ายดาย
2. ภาษาระดับต่ำ (Low Level Language) ภาษาระดับต่ำเป็นภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาเครื่องมาก จึงเรียกได้ว่าเป็นภาษาอิงเครื่อง (Machine Oriented Language) เป็นภาษาที่ใช้รหัสตัวเลขประกอบกับอักขระภาษาอังกฤษด้วย เช่น ภาษาแอสเซมบลี (Assembly Language) ภาษาระดับต่ำนี้ เขียนได้ง่ายขึ้น แต่ภาษาแอสเซมบลี นี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถเข้าใจภาษาได้โดยตรง เวลาใช้งานจำเป็นต้องอาศัยโปรแกรมแปลภาษาเอสเซมเบลอ (Assembler Programme) และโปรแกรมเอสแซมเบลอที่ใช้กับคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งจะใช้กับคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น ๆ ไม่ได้
3. ภาษาระดับสูง (High Level Language) ภาษาระดับสูงเป็นภาษาที่อำนวยความสะดวก ให้กับคนเขียนโปรแกรมอย่างมาก ลักษณะคำสั่งใช้ภาษาอังกฤษที่ผู้อ่านเข้าใจได้ ซึ่งเป็นภาษาที่เขียนและเข้าใจง่ายกว่า ภาษาเอสแซมบลี แต่เครื่องคอมพิวเตอร์จะไม่เข้าใจได้ทันทีต้องอาศัยตัวแปลภาษา เช่น ภาษาฟอร์แทรน (FORTRAN) ภาษาโคบอล (COBOL) ภาษาเบสิค (BASIC) และภาษาอาร์พีจี (RPG) เป็นต้น
ภาษาคอมพิวเตอร์สำหรับการพัฒนาโปรแกรมมีอยู่มากมาย แต่ละภาษามีโครงสร้างของโปรแกรม ไวยากรณ์ และความสามารถ ใช้สภาพแวดล้อมของคอมพิวเตอร์ที่แตกต่างกัน ภาษาคอมพิวเตอร์ที่นิยมใช้ในการเขียนโปรแกรมได้แก่
1. ภาษาฟอร์แทรน (FORTRAN) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2497 สร้างขึ้นสำหรับแก้ปัญหาทางด้านคณิตศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ และสามารถใช้กับงานด้านกราฟิก ทางด้านฐานข้อมูล และทางด้านเวิร์ดโพรเซสซิ่งได้เช่นกัน
2. ภาษาเบสิก (BASIC) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2508 โดยออกแบบให้เป็นภาษาที่ง่าย ๆ แต่มีความสามารถของภาษาฟอร์แทรน รวมกับภาษาโคบอลเข้าด้วยกัน สามารถนำไปใช้งานได้อย่างกว้างขวาง สามารถใช้โต้ตอบได้ ผู้ใช้สามารถได้รับการตอบสนองเพื่อสั่งพิมพ์เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ นิยมใช้กับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ ภาษาเบสิกเป็นทั้งตัวอินเตอร์พรีเตอร์ และคอมไพเลอร์ในตัว เหมาะสำหรับงานทางด้านวิทยาศาสตร์และธุรกิจการค้า
3. ภาษาโคบอล (COBOL) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2502 เพื่อใช้งานด้านธุรกิจและพาณิชยการ ลักษณะภาษาโคบอลเป็นธรรมชาติ เขียนได้รวบรัดอ่านง่าย ความสำคัญของภาษาโคบอลคือ ขีดความสามารถในการจัดและการปรับแต่งไฟล์ข้อมูลที่ยาวได้สะดวก ข้อมูลสั้นก็สะดวกเช่นกัน รวมทั้งการสร้างไฟล์รายงานข้อมูลด้วย
4. ภาษาปาสคาล (Pascal) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2514 เป็นภาษาโครงสร้างที่สร้างเสริมความคิดที่เป็นระบบได้ดี ภาษาปาสคาลเป็นภาษาที่คล้ายกับภาษาอัลกอ แต่เป็นภาษาที่เล็กกว่า นิยมใช้กับไมโครคอมพิวเตอร์ เป็นภาษาที่ใช้งานง่ายโดยใช้ภาษาอังกฤษง่าย ๆ
5. ภาษาซี (C) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2517 พัฒนาเป็นภาษาที่มีโครงสร้างเรียบร้อยมาก เป็นภาษาที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับภาษาเครื่อง แต่ใช้งานได้ง่ายกว่า ถูกนำไปใช้งานโปรแกรมระบบ (System Programming) ภาษาซีที่ใช้กับคอมพิวเตอร์จะเป็นภาษาที่ง่ายกะทัดรัด เนื่องจากภาษาซีเป็นภาษาอิสระจากสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์รุ่นใด ๆ ทั้งนั้น ใช้โปรแกรมร่วมกับคอมพิวเตอร์รุ่นใดก็ได้
6. ภาษาอัลกอล (ALGOL) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2503 เป็นภาษาที่มีความสามารถสูง รูปลักษณะคล้ายภาษาฟอร์แทรน แต่เป็นภาษาที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน ข้อความรวบรัด สร้างขึ้นเพื่อเป็นภาษาเอนกประสงค์ สำหรับการแสดงกระบวนการแก้ปัญหาทางอัลกอริทึม เป็นภาษาที่มีโครงสร้างเป็นทางการ อ่านง่าย
7. ภาษาลิสฟ์ (LISP) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2503 เช่นกัน เป็นภาษาที่มีความสามารถสูงทางด้านงานแบบลิสฟ์
โพรเซสซิ่ง นักวิจัยคอมพิวเตอร์ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเทียมหรือสมองเทียม (Artificial Intelligent) เลือกใช้ภาษาลิสฟ์ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงความยาว หรือโครงสร้างในขณะที่คอมพิวเตอร์กำลังทำงานอยู่ได้ นิยมใช้แสดงรูปประโยคภาษาอังกฤษ หรือสูตรทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเลียนแบบกระบวนการแก้ปัญหาของมนุษย์ด้วย
8. ภาษาอาร์ พี จี (RPG) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2507 เป็นภาษาที่ใช้กับมินิคอมพิวเตอร์ สำหรับงานทางด้านธุรกิจ สามารถสร้างรายงานจากข้อมูล โดยการเขียนภาษาอาร์ พี จี สามารถเขียนและใช้งานเป็นส่วน ๆ ไม่จำเป็นต้องเขียนเป็นโปรแกรมยาว ๆ
9. ภาษาพี แอล วัน (PL/1) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2508 เป็นภาษาที่ออกแบบไว้ใช้งานทางธุรกิจและวิทยาศาสตร์ เป็นภาษาที่นำเอาขีดความสามารถของภาษาฟอร์แทรน และภาษาโคบอลไว้ด้วยกัน เป็นภาษาที่ง่าย รวบรัด สามารถรวบไฟล์หรือเรคคอร์ดทั้งทางด้าน Input และ Output ได้ สามารถแสดงข้อมูลในรูปของอาร์เรย์ได้ง่าย
10. ภาษาเอ พี เอล (APL) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2510 เป็นภาษาที่มีชุดตัวกระทำพื้นฐาน (Primitive Operators)
ที่ใช้ทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น สร้างเลขดัชนี สร้างเลขแบบสุ่ม เป็นภาษายอดนิยมของนักสถิติ สามารถใช้งานทางด้านธุรกิจได้เช่นกัน เช่น การผลิตเอกสาร ด้านวิเคราะห์ ด้านกราฟิก การจัดการระบบฐานข้อมูล ลักษณะภาษาคล้ายภาษาสนทนา เข้าใจง่าย แต่สามารถทำงานได้เร็ว
11. ภาษาสมอลท้อค (SMALL TALK) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2515 เพื่อใช้ในวงการศึกษา สามารถช่วยครูแก้ปัญหาทางการสอนได้ ใช้สร้างกราฟิก และการอธิบายทางการศึกษาได้ดี แต่ก็สามารถนำมาใช้งานด้านธุรกิจได้ด้วย จึงมีลักษณะเป็นภาษาเอนกประสงค์
12. ภาษาไพล็อท (PILOT) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2516 เป็นภาษาที่พัฒนาขึ้นสำหรับใช้สอนเด็กเกี่ยวกับการทำงานของคอมพิวเตอร์ นิยมนำไปเขียนโปรแกรมการสอน เพื่อใช้เป็นคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ภาษาที่ใช้ควบคู่กับไพล็อทคือภาษาโลโก้ (LOGO) ซึ่งพัฒนาขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน
13. ภาษาฟอร์ท (FORTH) พัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2518 มีลักษณะคล้ายภาษาแอสแซมบลี ระดับสูง ออกแบบไว้ใช้งาน System Promgramming ผู้ใช้สามารถพิมพ์คำสั่งใหม่ ๆ เข้าไปได้ และสามารถเก็บคำสั่งและเรียกออกมาใช้งานได้ ดังนั้น ผู้ใช้สามารถนำไปใช้สร้างโปรแกรมให้เหมาะสมกับความต้องการของตนได้ มักใช้ในงานสถิติ ธุรกิจการเงิน และด้านไฟลิ่ง